สารและสมบัติของสาร
สารรอบตัวเรา
ของเล่นของใช้ต่างๆ ทำมาจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น
เพื่อให้มีคุณภาพบางอย่างทดแทนที่วัสดุธรรมชาติไม่มี วัสดุที่จะนำมาใช้ทำของเล่นของใช้
จะต้องมีสมบัติเหมาะสมกับความต้องการของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เครื่องใช้และวัสดุต่างๆ
ที่อยู่รอบตัวเรามี สี ขนาด แตกต่างกัน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เสื้อผ้า แก้วน้ำ
ถ้าน้องๆ สังเกตต่อไปจะพบว่า วัสดุดังกล่าวนั้นทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน
บางชนิดทำมาจากวัสดุชนิดเดียวกัน บางชนิดทำมาจากวัสดุที่ต่างกัน
วัสดุที่นำมาใช้ทำของเล่นของใช้โดยทั่วไปมี
2 ประเภท คือ
1.
วัสดุจากธรรมชาติ
เป็นวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้ ดิน หิน ทราย ยาง หนังสัตว์ ขนสัตว์ ฝ้าย เป็นต้น
2.
วัสดุที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น
เช่น แก้ว พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ปูนซีเมนต์ โลหะ
ทั้งที่เป็นโลหะบริสุทธิ์และโลหะผสม เป็นต้น
วัสดุแต่ละประเภทมีสมบัติที่แตกต่างกัน
ได้แก่ ความเหนียว ความแข็ง ความเปราะแตกหักง่าย ความยืดหยุ่น ความนุ่ม
ความโปร่งใส ความอ่อน เป็นต้น
สมบัติของวัสดุชนิดต่างๆ
โลหะ
โลหะเป็นวัสดุที่แข็งแรงมีหลายชนิด เช่น เหล็ก อลูมิเนียม
ทองแดง จะนำมาใช้ต่างกัน เหล็กแข็งเป็นสนิม อะลูมิเนียม แข็งน้อยกว่าเหล็กแต่เบาไม่เป็นสนิม
จึงใช้อลูมิเนียมทำหม้อ กระทะ หน้าต่าง เป็นโลหะที่แข็งเท่ากับเหล็กแต่เบากว่ามาก
และตัดให้โค้งงอได้ โลหะเป็นวัสดุที่มันวาว สามารถตีให้เป็นแผ่นเรียบ หรือดึงออกเป็นเส้นหรืองอได้โดยไม่หัก
นำไฟฟ้าและนำความร้อนได้ดี นำมาใช้ทำทำอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ
แก้ว
แก้วเป็นของแข็ง โปร่งใส ผิวเรียบ ทนต่อการขูดขีดและความร้อน แตกหักง่าย
ส่วนใหญ่จะนำมาทำ แก้วน้ำ ขวด กระจก อุปกรณ์ในห้องทดลอง นอกจากนั้นยังมีการผลิตแก้วให้มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อใช้งานเฉพาะอย่าง
เช่น เลนส์แว่นตา เลนส์แว่นขยาย กระจกเงา กระจกนิรภัย เป็นต้น
พลาสติก
พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์
จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีน้ำหนักเบา ไม่นำความร้อน ไม่นำไฟฟ้า ทดต่อกรดและเบส น้ำซึมผ่านไม่ได้
ไม่แตกหักง่าย บางชนิดมีความแข็ง บางชนิดสามารถยืดหยุ่นได้ นำมาทำของเล่นของใช้ได้หลากหลาย
เพราะกรรมวิธีในการผลิตไม่ซับซ้อนและทำให้มีสีต่างๆ ได้
ยาง
ยาง ทำมาจากยางของต้นพารา
มีความยืดหยุ่นดี ใช้ทำยางรถยนต์ ยางลบ ลูกโป่ง พื้นรองเท้า เป็นต้น
เซรามิก
เซรามิก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากดิน หิน หรือแร่ธาตุอื่นๆ
ที่ไม่ใช่โลหะ โดยทำเป็นรูปทรงต่างๆ แล้วผ่านการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงมากๆ
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีความแข็ง แต่เปราะต่อแรงกระแทก ทนต่อกรดและเบส
ทนต่อสภาพอากาศและความชื้น มีสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า นิยมทำเป็นของประดับบ้าน และใช้ทำเป็นวัตถุทนไฟในอุปกรณ์ไฟฟ้า
ไม้
ไม้
มีลักษณะแข็ง ทนทาน สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ เยื่อไม้นำมาทำกระดาษ เช่น สมุด
หนังสือ หนังสือพิมพ์ กระดาษเนื้อเยื่ออ่อน
ผ้า
ผ้า ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ และเส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยธรรมชาติ
เป็นเส้นใยที่ได้จากพืชและสัตว์ ผ้าที่ผลิตจากเส้นใยที่ได้จากพืช ได้แก่ ผ้าฝ้าย
ผ้าลินิน ผ้าใยสับปะรด และผ้าป่าน ผ้าที่ผลิตจากเส้นใยที่ได้จากสัตว์ ได้แก่
ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์เส้นใยสังเคราะห์ เป็นเส้นใยที่ผลิตจากสารเคมี ผ้าผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์
ได้แก่ ผ้าไนลอน พอลิเอสเทอร์ และอะไครลิค มีสมบัติไม่ค่อยยับ ซักง่าย แห้งเร็ว
ไม่ดูดซึมเหงื่อ เพราะไม่มีช่องระบายอากาศ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในบ้านเราเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน
การเปลี่ยนแปลงของวัสดุ
วัสดุต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา
เมื่อมีการ บีบ ทุบ ดึง ดัด เป่า จะทำให้วัสดุมีการเปลี่ยนแปลงสภาพ ดังนี้
- การบีบ การทำให้วัสดุหดหรือลด เช่น บิดผ้า บีบฟองน้ำ
เป็นต้น
- การบิด คือ การทำให้วัสดุ บิดเบี้ยว เช่น บิดผ้า บิดลวด
เป็นต้น
- การทุบ คือ การทำให้วัสดุแตกหรือยุบด้วยแรงกระแทก เช่น
ทุบกระป๋อง ทุบกะลามะพร้าว เป็นต้น
- การดัด คือ การทำให้วัสดุโค้งงอได้ตามต้องการ เช่น ดัดเหล็กประตูหน้าต่าง
เป็นต้น
- การดึง คือ การทำให้วัสดุยืดขยายขึ้น เช่น การดึงยางรัดของ
เป็นต้น
การประดิษฐ์ของเล่นของใช้
วัสดุที่ใช้ทำสิ่งของต่างๆ
มีลักษณะและสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อเราจะทำของเล่นของใช้ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสมบัติของวัสดุนั้นๆ
เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เพื่อของเล่นของใช้นั้นจะได้ใช้งานนานๆ ตัวอย่างการประดิษฐ์ของเล่น
เช่น ตุ๊กตา ว่าว จรวด ดอกไม้แห้ง โมบาย เป็นต้น ตัวอย่างการประดิษฐ์ของใช้ต่างๆ เช่น พัด
ตะกร้า ถาด มู่ลี่ เป็นต้น
ดังนั้น เราสามารถสรุป เรื่องสารรอบตัวเราได้ดังนี้
1. วัสดุที่นำมาทำของเล่นและของใช้โดยทั่วไป
มี 2 ประเภท คือ วัสดุจากธรรมชาติกับวัสดุที่มนุษย์ผลิตขึ้น
2. วัสดุแต่ละชนิดมีสมบัติต่างกัน
เช่น ความแข็ง ความเหนียว ความอ่อนนุ่ม ความยืดหยุ่น ความเปราะแตกหักง่าย
ความโปร่งใส เป็นต้น
3. ตัวอย่างของวัสดุที่มีสมบัติชนิดต่างๆ
ได้แก่ พลาสติก โลหะ ยาง ไม้ ผ้า เซรามิก เป็นต้น
4.ลักษณะที่วัสดุเปลี่ยนแปลงไป
เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงของวัสดุ การบีบ ทุบ ดัด ดึง
จะทำให้วัสดุมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไป ความร้อนและความเย็นทำให้วัสดุเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้เช่นเดียวกัน
5. วัสดุต่างๆ
เมื่อถูกเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากเดิม ทำให้เกิดทั้งประโยชน์และอันตราย ดังนั้น จึงควรระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยในการนำวัสดุต่างๆ
มาใช้งาน
6. การประดิษฐ์ของเล่นของใช้เองเป็นการประหยัดอีกทางหนึ่ง
และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และฝึกทักษะและความคิดในการทำงาน เป็นการส่งเสริมให้เด็กเกิดจินตนาการมีความคิดสร้างสรรค์
และที่สำคัญ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
ชมวีดีโอเพิ่เติม http://www.youtube.com/watch?v=TeWcjmks6sQ
ชมวีดีโอเพิ่เติม http://www.youtube.com/watch?v=TeWcjmks6sQ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น